วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ความเป็นมา

        หัวใจชายหนุ่มเป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยใช้พระนามแฝงว่า รามจิต ลักษณะการพระราชนิพนธ์เป็นรูปแบบของจดหมาย มีจำนวน ๑๘ ฉบับระยะเวลาในจดหมาย ๑ ปี ๗ เดือน เป็นผุ้ที่ถ่ายทอดสังคมแบบไทยกับตะวันตกที่ผสมผสานกัน และทำให้ผู้ที่อ่านได้ข่อคิดและความบันเทิงมากมาย
ลักษณะคำประพันธ์
    หัวใจชายหนุ่มเป็นร้อยแก้วในรูปแบบของจดหมายโดยมีข้อควรสังเกตสำหรับรูปแบบจดหมายทั้งหมด ๑๘ ฉบับในเรื่อง ดังนี้
     ๑. หัวจดหมาย ตั้งแต่ฉบับที่ ๑ วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖- จนถึงฉบับสุดท้ายวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖- จะเห็นว่ามีการเว้นเลขท้ายปี พ.ศ.ไว้
     ๒. คำขึ้นต้นจดหมาย ทั้ง ๑๘ ฉบับ ใช้คำขึ้นต้นเหมือนกันหมด คือ “ถึงพ่อประเสริฐเพื่อนรัก
      ๓. คำลงท้าย จะใช้คำว่า “จากเพื่อน...” “แต่เพื่อน...” แล้วตามด้วยความรู้สึกของนายประพันธ์ เช่น “แต่เพื่อนผู้ใจคอออกจะยุ่งเหยิง” (ฉบับที่ ๑๐) มีเพียง ๙ ฉบับเท่านั้น ที่ไม่มีคำลงท้าย
      ๔. การลงชื่อ ตั้งแต่ฉบับที่ ๑๔ เป็นต้นไปใช้บรรดาศักดิ์ที่ได้รับพระราชทาน คือ “บริบาลบรมศักดิ์โดยตลอด แต่ฉบับที่ ๑-๑๓ ใช้ชื่อประพันธ์

      ๕. ความสั้นยาวของจดหมาย มีเพียงฉบับที่ ๑๔ เท่านั้นที่มีขนาดสั้นที่สุด เพราะเป็นเพียงจดหมายที่แจ้งไปยังเพื่อนว่าตนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์

เรื่องย่อ

          นายประพันธ์เขียนจดหมายถึงนายประเสริฐซึ่งเป็นเพื่อนรักของเขา นายประพันธ์เป็นนักเรียนนอกจากประเทศอังกฤษ เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย พ่อของเขาหวังจะให้แต่งงานกับแม่กิมเน้ย แต่ประพันธ์ไม่ชอบใจการแต่งตัวของหล่อนที่ประดับประดามากเกินไปและดูเกินงาม จนทำให้เขาปลีกตัวออกไปจากการคลุมถุงชนจนได้พบกับแม่อุไร ซึ่งเป็นหญิงสาวหัวนอกด้านวัฒนธรรมตะวันตกเช่นเดียวกับประพันธ์ ทั้งสองถูกคอกัน มักพากันเที่ยวเตร่สม่ำเสมอ จนในที่สุดเกิดได้เสียกันจนแม่อุไรตั้งครรภ์ จึงจำเป็นต้องแต่งงานกันบนความไม่พอใจของผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย แต่เมื่อแต่งงานไปนานๆ นิสัยของแม่อุไรได้เปลี่ยนไป ชอบข่มสามีต่อหน้าคนอื่น หยาบกระด้าง ไร้ซึ่งมารยาท จนหนักเข้าเธอเริ่มเหินห่างประพันธ์ไปคบกับพระยาตระเวนนคร เสือผู้หญิงที่ประสงค์ได้ผู้หญิงคนไหนย่อมได้ทุกครั้งไป รวมถึงแม่อุไรที่ต้องหย่ากับประพันธ์ด้วยหวังว่าพระยาตระเวนนครจะให้เกียรติเธอราวภรรยาคนสำคัญ แต่กลับตาลปัตรทางรักของแม่อุไรพังลงเมื่อพระยาตระเวนนครมีหญิงคนใหม่ เธอจึงกลับมาขอคืนดีกับประพันธ์ แต่ถูกปฏิเสธ จนเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านชีวิตของนายประพันธ์ไป ทำให้เขาเริ่มคิดได้ว่าบางทีการดำเนินชีวิตแบบชาวตะวันตกนั้นมิสามารถใช้ได้กับวิถีแห่งความเป็นไทย ในที่สุดเขาได้พบกับนางสาวศรีสมาน หญิงสาวผู้ที่เขาคิดว่าจะเยียวยา และบำรุงชีวิตของเขาให้ฟื้นคืนมาได้ ส่วนแม่อุไรก็ได้พบรักกับหลวงพิเศษผลพานิช พ่อค้าผู้มั่งมี แม้หน้าตาของเขาจะมิได้หล่อเหลา แต่มีเงินมากพอที่จะซื้อความสุขให้กับแม่อุไรได้เช่นกัน เรื่องราวต่างๆ ได้จบลงด้วยจดหมายฉบับสุดท้ายเพียงเท่านี้